โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา
กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากร
กล้วยไม้สกุล Sirindhornia จัดเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพบในประเทศไทยทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ เอื้องศรีประจิม Sirindhornia milabilis H. A. Pedersen & Suksathan และ เอื้องศรีอาคเนย์ S. monophylla H. A. Pedersen & Suksathan พบได้ที่ดอยหัวหมด จังหวัดตาก ส่วนเอื้องศรีเชียงดาว S. pulchella H. A. Pedersen & Indham สามารถพบได้ที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในแต่ละชนิดพบการกระจายพันธุ์เพียงแห่งเดียวในสภาพธรรมชาติ นอกจากนี้ถิ่นที่อาศัยเหล่านี้ยังถูกรบกวนโดยกิจกรรมการท่องเที่ยวของมนุษย์ การลดลงของพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต (พื้นที่อยู่อาศัย) การเผาป่าพื้นการเก็บผลิตภัณฑ์จากป่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ล้วนแต่เป็นภัยคุกคาม ส่งผลกระทบต่อการกระจายพันธุ์ของกล้วยไม้ ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้จะมีการประยุกต์การใช้แบบจำลองการกระจายพันธุ์ มาทำนายและสร้างแผนที่การกระจายพันธุ์ทางภูมิศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อวิเคราะห์หาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต และการเปลี่ยนแปลงของขนาดพื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัย โดยใช้ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและนิเวศของพืชและถิ่นที่อาศัยเป็นตัวแปรในการสร้างแบบจำลองและแผนที่นั้น ๆ สุดท้ายจะทำการประเมินสถานภาพการอนุรักษ์จะใช้หลักเกณฑ์ของบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red list) โดยหวังว่าผลการศึกษาแบบจำลองการกระจายพันธุ์และการประเมินสถานภาพการอนุรักษ์มีศักยภาพสูงก็สามารถนำไปประยุกต์กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ได้ต่อไปและสามารถนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อใช้ในแนวทางการวางแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้ พร้อมกันนี้ยังสามารถใช้เป็นเครื่องชี้เตือนให้นำไปสู่การสร้างนโยบายใหม่ ๆ ในการบริหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
กรอบการใช้ประโยชน์
กล้วยไม้สกุล Sirindhornia, เอื้องศรีประจิม, เอื้องศรีอาคเนย์, เอื้องศรีเชียงดาว
1. เพื่อสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.)
2. เพื่อทราบการกระจายพันธุ์และปัจจัยที่มีผลต่อการกระจายพันธุ์ของกล้วยไม้สกุล Sirindhornia