การประเมินมูลค่าการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินในพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืชดอยแง่ม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

กิจกรรม

กิจกรรมปกปักษ์ทรัพยากร

บทคัดย่อ

ดอยแง่ม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีลักษณะสังคมพืชเป็นป่าเบญจพรรณผสมไผ่ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1,115 ไร่ เดิมเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ผ่านการทำเกษตรกรรมมาก่อน ซึ่งมีการปล่อยให้ฟื้นฟูเองตามธรรมชาติ และเป็นพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืชและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของมหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านโครงสร้างสังคมพืช ความหลากชนิด มวลชีวภาพและการประเมินการกักเก็บคาร์บอน โดยการวางแปลงตัวอย่างขนาด 20 x 50 เมตร จำนวน 10 แปลง เก็บข้อมูลไม้ต้นและไผ่ เพื่อวิเคราะห์ค่าดัชนีความสำคัญของพรรณไม้ ดัชนีความหลากชนิด ปริมาณมวลชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินโดยสมการแอลโลเมตรี และการประเมินมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในปี 2565 ผลการศึกษาพบพรรณไม้ต้น 55 ชนิด 45 สกุล 26 วงศ์ ความหนาแน่นของพรรณไม้ 128.96 ต้น/ไร่ โดยพบโมกมัน (Wrightia pubescens) ผ่าเสี้ยน (Vitex canescens) และไผ่บงคาย (Gigantochloa hosseusii) มีค่าดัชนีความสำคัญมากที่สุด โดยมีค่าร้อยละ 29.23 28.48 และ 27.64 ตามลำดับ ค่าดัชนีความชนิด (H’) เท่ากับ 3.12 ปริมาณมวลชีวภาพรวม 93.02 ตัน/เฮกแตร์ และปริมาณการกักเก็บคาร์บอนรวม 48.31 ตันคาร์บอน/เฮกแตร์ (คาร์บอนเครดิต) ซึ่งเป็นค่าที่ค่อนข้างสูง คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายตลาดคาร์บอนอียู (EUA) 156,542.18 บาท และตลาดแคลิฟอร์เนีย (CCA) 52,396.16 บาท และปริมาณการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์รวมทั้งหมด 177.30 ตันคาร์บอนเทียบเท่า/เฮกแตร์ จากการศึกษาสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปศึกษาแนวทางในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันโดยการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ และศึกษาการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของการซื้อขายตลาดคาร์บอน รวมถึงการผลักดันให้พื้นที่เข้าสู่โครงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาดของประเทศไทยในอนาคตได้

กรอบการเรียนรู้

กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร

คำสำคัญ

ดอยแง่ม คาร์บอนเครดิต สมการแอลโลเมตรี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ

วัตถุประสงค์

    1. เพื่อศึกษาปริมาณมวลชีวภาพ การกักเก็บคาร์บอน และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืชดอยแง่ม

    2. เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ดอยแง่ม