โครงการปลูกรักษาพืชท้องถิ่นจากภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านการใช้ประโยชน์ของพืชของชาติพันธุ์ต่าง ๆใน จ.เชียงราย
โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา
กิจกรรม
กิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร
บทคัดย่อ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายด้านชีวภาพแต่ด้วยการเจริญเติบโตด้านต่าง ๆ การพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว และอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลงมาก และป่าไม้ลดลง ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่ป่าลดลง ดินพังทลาย สัตว์ป่าไม่มีที่อยู่อาศัย หรือภาวะโลกร้อน เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากนี้ยังรวมถึงการใช้ประโยชน์ของพืชในด้านต่าง ๆ รวมถึงการใช้ประโยชน์ของพืช และภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งโดยปกติแล้วกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในประเทศไทยมักจะมีการนำพืชมาใช้ประโยชน์เพราะเป็นสิ่งที่หาง่ายและอยู่รอบ ๆ ตัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พืชเป็นยาสมุนไพรในการรักษาโรค ใช้เป็นอาหารในการดำรงชีวิต ดังนั้นพืชจึงมีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย และการใช้ประโยชน์ของพืชนั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้อีกด้วย ถ้ามีแต่การนำไปใช้อย่างเดียวไม่มีหาวิธีบำรุงหรือปลูกทดแทนพืชก็อาจจะสูญพันธุ์ได้ จึงต้องมีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น โดยต้องอาศัยคนในชุมชนและนักวิจัยที่เข้าไปศึกษาต้องแนะนำการใช้ประโยชน์จากพืชอย่างยั่งยืนและใช้อย่างถูกวิธี เช่น ส่งเสริมการปลูกป่าในชุมชน เพื่อเป็นแหล่งใช้สอยพรรณไม้ที่เป็นประโยชน์และยังเป็นการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไว้อีกด้วย อาจจะเป็นแนวทางในการสร้างรายได้ให้ชุมชน นอกจากนี้ยังมีการนำพืชมาปลูกในแปลงสาธิตเพื่อเป็นการช่วยเก็บรักษาพืชอีกทางหนึ่ง
กรอบการเรียนรู้
กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร
คำสำคัญ
พืชท้องถิ่น, ภูมิปัญญาพื้นบ้าน, ชาติพันธุ์, การใช้ประโยชน์ของพืช
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
2. เพื่อสร้างพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้กับชุมชน
3. เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาพื้นบ้านและการใช้ประโยชน์จากพืชในชุมชนอย่างยั่งยืน
4. เพื่อเพิ่มพื้นที่การทำเกษตรกรรมและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
5. เพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชสมุนไพรหรือไม้ใช้สอยที่มีการนำประโยชน์ภายในชุมชนหรือกลุ่มชาติพันธุ์