โครงการวิจัยที่กำลังดำเนินการ

การประเมินมูลค่าการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินในพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืชดอยแง่ม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

ดอยแง่ม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีลักษณะสังคมพืชเป็นป่าเบญจพรรณผสมไผ่ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1,115 ไร่ เดิมเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ผ่านการทำเกษตรกรรมมาก่อน ซึ่งมีการปล่อยให้ฟื้นฟูเองตามธรรมชาติ และเป็นพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืชและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของมหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านโครงสร้างสังคมพืช ความหลากชนิด มวลชีวภาพและการประเมินการกักเก็บคาร์บอน โดยการวางแปลงตัวอย่างขนาด 20 x 50 เมตร จำนวน 10 แปลง เก็บข้อมูลไม้ต้นและไผ่ เพื่อวิเคราะห์ค่าดัชนีความสำคัญของพรรณไม้ ดัชนีความหลากชนิด ปริมาณมวลชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินโดยสมการแอลโลเมตรี และการประเมินมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในปี 2565 ผลการศึกษาพบพรรณไม้ต้น 55 ชนิด 45 สกุล 26 วงศ์ ความหนาแน่นของพรรณไม้ 128.96 ต้น/ไร่ โดยพบโมกมัน (Wrightia pubescens) ผ่าเสี้ยน (Vitex canescens) และไผ่บงคาย (Gigantochloa hosseusii) มีค่าดัชนีความสำคัญมากที่สุด โดยมีค่าร้อยละ 29.23 28.48 และ 27.64 ตามลำดับ ค่าดัชนีความชนิด (H’) เท่ากับ 3.12 ปริมาณมวลชีวภาพรวม 93.02 ตัน/เฮกแตร์ และปริมาณการกักเก็บคาร์บอนรวม 48.31 ตันคาร์บอน/เฮกแตร์ (คาร์บอนเครดิต) ซึ่งเป็นค่าที่ค่อนข้างสูง คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายตลาดคาร์บอนอียู (EUA) 156,542.18 บาท และตลาดแคลิฟอร์เนีย (CCA) 52,396.16 บาท และปริมาณการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์รวมทั้งหมด 177.30 ตันคาร์บอนเทียบเท่า/เฮกแตร์ จากการศึกษาสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปศึกษาแนวทางในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันโดยการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ และศึกษาการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของการซื้อขายตลาดคาร์บอน รวมถึงการผลักดันให้พื้นที่เข้าสู่โครงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาดของประเทศไทยในอนาคตได้

ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

อ่านต่อ...

โครงการจัดทำหนังสือ/สิ่งพิมพ์เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ

การจัดทำสือสิ่งพิมพ์ผลงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพจำนวนประมาณ 2,000 เล่ม เพื่อเผยแพร่การศึกษาความหลากหลายของพรรณไม้ ระบบนิเวศ สภาพป่า และทรัพยากรธรรมชาติต่างๆตลอดจนเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่มีการศึกษาไว้แล้วในแต่ละเส้นทาง ซึ่งพบจำนวนพรรณไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในแต่ละสภาพพื้นที่ ในแต่ละฤดูกาล ทำให้ผู้ที่สนใจความหลากหลายพรรณไม้เข้าใจและทราบชนิดของพรรณไม้นั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น และจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้มาศึกษาต่อไป

โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา

อ่านต่อ...

โครงการจัดตั้งศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสืบสานพระราชปณิธาน ในการอนุรักษ์ทรัพยากรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงมีสายพระเนตรยาวไกล โดยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสำคัญและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอพ.สธ. ขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของพันธุกรรมพืช ให้มีการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติจนเกิดประโยชน์ถึงมหาชนชาวไทย และให้มีระบบข้อมูลพันธุกรรมพืชที่สามารถสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศตามการดำเนินการในกิจกรรมที่ 8 กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร ประสานงานและเชิญชวนให้ท้องถิ่นและโรงเรียนร่วมสนองพระราชดำริ สนับสนุนชุมชนและโรงเรียนให้สามารถดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นและสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างชุมชน ท้องถิ่นและมหาวิทยาลัย และนำข้อสงสัยจากชุมชนไปดำเนินการวิจัย พัฒนาและบูรณาการตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย ประสานงานและสร้างความร่วมมือกันกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย ช่วยตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ การให้ความรู้ในการสำรวจเก็บรวบรวมข้อมูล ให้คำแนะนำชุมชน ท้องถิ่น ตลอดจนสนับสนุนให้ได้รับป้ายฯ และเกียรติบัตรต่อไป

โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา

อ่านต่อ...

โครงการรักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์ดิน (ปลูกป่า+สร้างฝาย+ทำปุ๋ย) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ดำเนินกิจกรรมปลูกฝังจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมและพัฒนาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมมาโดยตลอดตั้งแต่เปิดมหาวิทยาลัย ภายใต้พระราชปณิธาน “ปลูกป่า สร้างคน” ของสมเด็จพระศรีนครรินทรา บรมราชชนนี ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่จัดให้นักศึกษาใหม่ได้ปลูกไม้ยืนต้นภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งนอกจากจะเป็นการปลูกฝังให้นักศึกษาทุกคนมีจิตสำนึกรักป่า ยังส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีความร่มรื่นและมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้นให้สมกับที่เป็น “University in the park” พร้อมกันนั้นยังมีการจัดตั้งและพัฒนาโครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงฯ ให้เป็นอุทยานการศึกษาทางพฤกษศาสตร์และที่พักผ่อนทางธรรมชาติ สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เข้าศึกษาและเยี่ยมชม ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้เข้าร่วมสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่บนดอยแง่มที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอยู่ จึงได้จัดทำ “โครงการดอยแง่มงามอร่ามตา ด้วยพฤกษานานาพรรณ” ขึ้น เพื่อให้นักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ดอยแง่มของมหาวิทยาลัยให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อให้พื้นที่ดอยแง่มเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศต่อไป

โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา

อ่านต่อ...

โครงการเครือข่ายสวนพฤกษศาสตร์ในโรงเรียน/เครือข่ายสวนพฤกษศาสตร์ในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง/ทวีปเอเชีย

ในปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งด้านการอนุรักษ์และการสร้างขึ้นมาทดแทน นอกจากกฎหมายของแต่ละประเทศที่เข้ามามีผลบังคับใช้ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังมีกฎหมายและอนุสัญญาระหว่างประเทศเกิดขึ้นอีกหลายฉบับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นหน่วยงานที่ได้รับสนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และได้มีการจัดทำโครงการเพื่อสนองพระราชดำริคือโครงการสร้างเครือข่ายสวนพฤกษศาสตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศขึ้น เพื่อหวังเป็นสื่อในการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยให้เห็นคุณค่า ประโยชน์ ความสวยงาม อันจะเป็นการอนุรักษ์พรรณพืชและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างเครือข่ายสวนพฤกษศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศนี้มีการวางแนวกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทั่วโลก เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพด้านการดำเนินงานทางด้านวิชาการ สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การเรียนรู้ทรัพยากรพันธุกรรมพืช โดยประสานงานและร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการทำฐานข้อมูลพันธุกรรมพืชและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องนำไปสู่การอนุรักษ์ที่ยั่งยืนต่อไป

โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา

อ่านต่อ...

โครงการเข้าร่วมกิจกรรม/งานประชุมวิชาการต่าง ๆ/จัดนิทรรศการต่าง ๆ

เนื่องจากสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพื่อให้เกิดการพัฒนาในระดับประเทศ เช่น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสารของข้อมูลที่มีข้อความที่ตรงกัน ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ จำเป็นที่จะต้องแสวงหาข่าวสารและข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อการพัฒนาบุคคลากรและหน่วยงานของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการแสวงหาข่าวสารหรือข้อมูลก็มีด้วยกันหลายวิธีได้แก่ การประชุมวิชาการหรือการจัดนิทรรศการ จัดเป็นอีกหนึ่งวิธีที่กำลังนิยมในวงการวิชาการและการศึกษาในระดับต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งถือเป็นแหล่งข้อมูลการเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ หรือการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ต่างๆ และการรู้จักและเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ของกลุ่มต่างๆได้แก่ กลุ่มนักวิจัย กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มผู้ที่สนใจ ในการแลกเปลี่ยนรู้เรียนประสบการณ์ด้านการศึกษา ด้านการวิจัยโดยการนำผลของการดำเนินงาน งานวิจัยของแต่ละบุคคล หน่วยงานไปเผยแพร่หรือแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งอาจจะได้รับคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังเป็นการนำความรู้ใหม่ที่ได้มาปรับปรุงพัฒนาตนเองและหน่วยงานได้อย่างเหมาะสม

โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา

อ่านต่อ...

โครงการจัดการพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ต่างๆของจังหวัดเชียงราย

มนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตทั้งหลายล้วนมีความสัมพันธ์กับทรัพยากรพืชตั้งแต่เริ่มมีวิวัฒนาการมนุษยชาติ ซึ่งการดำรงชีวิตของมนุษย์ต้องอาศัยปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค นอกจากนี้มนุษย์ยังมีการนำพืชมาใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เครื่องรางของขลัง ความเชื่อต่าง ๆ หรืองานหัตถกรรมพื้นบ้าน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการใช้ประโยชน์จากพืชทั้งทางตรงและทางอ้อม การใช้ประโยชน์ดังกล่าวได้มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยการเล่าจากประสบการณ์ของผู้เฒ่าผู้แก่ประจำหมู่บ้าน จนเกิดเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน ปัจจุบันหมู่บ้านที่มีการพัฒนาโดยมีวัฒนธรรมเมืองเริ่มหลั่งไหลเข้ามาทำให้บทบาทของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาพื้นบ้านลดลง ดังนั้นจึงต้องการมีอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่ซึ่งการศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้านการใช้ประโยชน์จากพืชและภูมิปัญญาพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อไม่ให้สูญหายไปกับคนรุ่นหลังจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้การรวบรวมข้อมูลดังกล่าวนั้นยังสอดคล้องกับกิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากรที่ส่งเสริมให้มีการรวบรวมทรัพยากรกายภาพ ชีวภาพ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาต่าง ๆ และยังนำไปสู่กิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร เพื่อรักษาทรัพยากรที่มีค่า และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไว้

โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา

อ่านต่อ...

โครงการจัดทำฐานข้อมูลพืชของ ม.แม่ฟ้าหลวง พร้อมทั้งป้ายชื่อพรรณไม้ แบบ AR code

สวนพฤกษศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นสถานที่ที่ทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้เก็บรวบรวมพรรณไม้ต่างๆ อยู่บนพื้นที่กว่า 4,997ไร่ และแบ่งเป็นสวนต่างๆ ซึ่งจะแบ่งตามชนิดของพรรณพืชไม่ว่าจะเป็น สวนสมุนไพร อุยานไม้ดอก ไม้เศรษฐกิจ เศรษฐกิจภาคเหนือ และยังรวมไปถึงพืชพรรณไม้นานาชาติอีกด้วย และภายในแต่ละสวนของสวนพฤกษศาสตร์จะมีจำนวนพรรณไม่อีกมากมาย โดยความคลาดหวังของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงนั้นต้องการที่จะให้สวนพฤกษศาสตร์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับในการศึกษาและสนับสนุนการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัย ตลอดจนเป็นแหล่งความรู้ให้แก่บุคคลภายนอก ซึ่งจะได้นำความรู้ในเรื่องของพรรณไม้ไปประยุกต์ในการประกอบอาชีพ เพื่อต้องการที่จะตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของการขับเคลื่อนและผลักดันประเทศไปสู่ Thailand 4.0 โดยใช้นวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาผสมผสาน การเข้าถึงข้อมูลมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งการประยุกต์นำความรู้ทางด้านการจัดการข้อมูลในระบบฐานข้อมูล ซึ่งเป็นองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ช่วยในการจัดการข้อมูล นอกจากนี้เทคโนโลยีเว็บไซต์ที่จะเป็นเครื่องมือสำหรับการค้นข้อมูลในโลกออนไลน์ของคนในปัจจุบันอย่างแพร่หลายอยู่แล้วนั้น จะยิ่งเป็นประโยชน์และง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูล เมื่อประโยชน์ความสำคัญของเทคโนโลยีระบบฐานข้อมูลและความรู้ทางด้านเว็บไซต์ จึงได้มีแนวคิดที่จะนำความรู้ทางด้านเทคโนโลยีที่สามารถสร้างระบบฐานข้อมูลในการจัดเก็บข้อมูลของพรรณไม้ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ของพรรณไม้ การใช้งานพรรณไม้ ลักษณะเฉพาะทางของพรรณไม้ และแหล่งที่อยู่ของพรรณไม้ในสวนพฤกษศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในรูปแบบของไดนามิกเว็บไซต์ที่สามารถดึงข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลที่เก็บไว้ขึ้นมาเพื่อแสดงผลบนหน้าเว็บไซต์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่ต้องการจะหาความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้ภายในสวนพฤกษศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา

อ่านต่อ...

โครงการศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดน้อยหน่าเครือในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เพื่อประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเครื่องสำอาง

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (สารประกอบ phenolic, flavonoid และ condense tannin) จากส่วนต่างๆ ที่เหลือจากการบริโภค (เมล็ด ใบ และเปลือกของผล) ของน้อยหน่าเครือ (Kadsura heteroclite (Roxb.)) รวมทั้งฤทธิ์ทางชีวภาพ (ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ) และความปลอดภัยของสารสกัดน้อยหน่าเครือเหล่านั้น โดยนำส่วนต่างๆ ของน้อยหน่าเครือ ได้แก่ เมล็ด ใบ และเปลือกของผลน้อยหน่าเครือ มาสกัดด้วยตัวทำละลาย 3 ชนิด คือ DI water, Ethanol และ Acetone ในอัตราส่วน 1:10 w/v ด้วยวิธี Shaking method ความเร็วรอบ 150 rpm ที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 6 12 และ 24 ชั่วโมง ตามลำดับ ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดหยาบจากเมล็ด ใบ และเปลือกของผลน้อยหน่าเครือ พบว่ามีสารพฤกษเคมีกลุ่ม Anthraquinone, Terpenoid, Flavonoid และ Tannin นอกจากนี้จากการหา Total Phenolic Content (TPC) และ Total Flavonoid Content (TFC) พบว่าสารสกัดเมล็ดน้อยหน่าเครือที่สกัดด้วย Ethanol มี TPC สูงที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (1007.3±6.36 mg GAE/g extract) และยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เวลา 12 ชั่วโมง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุดทั้ง 3 วิธี (DPPH; 2,028.8±26.41, FRAP; 3,959.0±39.20 และ ABTS Activity; 4,844.0±206.60 mg TEAC/g extract) (p<0.05) ในขณะที่การศึกษาสารสกัดเปลือกน้อยหน่าเครือ พบว่ามี Total Flavonoid Content สูงสุด 117.69±30.49 mg QE/g extract ในส่วนของการสกัดใบน้อยหน่าเครือ พบว่าสารสกัดใบน้อยหน่าเครือ ที่สกัดด้วย Acetone เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ให้ TPC และ Total Condense Tannin Content (TCTC) สูงที่สุด (713.09±6.70 mg GAE/g extract และ 532.00±25.10 mg CE/g extract ตามลำดับ) และสารสกัดใบน้อยหน่าเครือที่สกัดด้วย Acetone เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี ABTS Activity สูงที่สุด (3981.12±31.01 mg TEAC/g extract) (p<0.05) อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดน้อยหน่าเครือ พบว่า ความเข้มข้นของสารสกัดเมล็ดน้อยหน่าเครือที่สกัดด้วย Ethanol ที่เวลา 12 ชั่วโมง ที่ไม่ทำให้เซลล์ผิวหนังเกิดความเป็นพิษ (Hacat cell) และมีเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตของเซลล์ (% cell viability) มากกว่า 80% คือ ความเข้มข้นที่ 50 µg/ml ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า น้อยหน่าเครือ โดยเฉพาะ ส่วนที่เหลือจากการบริโภค (เมล็ด เปลือกผล และใบ) สามารถนำมาเป็นสารสกัดธรรมชาติของไทย เพื่อประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเครื่องสำอาง อีกทั้งต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ และยังเป็นการสร้างนวัตกรรมและส่งเสริมการขยายพันธุ์ ส่งเสริมเกษตรกรเพาะปลูก เพิ่มโอกาสและอาชีพให้แก่เกษตรกร

โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา

อ่านต่อ...

โครงการเพิ่มมูลค่าและการใช้ประโยชน์พืชอนุรักษ์ อพ.สธ.ในทางนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเครื่องสำอาง

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสารพฤกษเคมีเบื้องต้น สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (Total Phenolic Content: TPC, Total Flavonoid Content: TFC และ Total Condensed Tannin Contents: TCTC) และฤทธิ์ทางชีวภาพทางเครื่องสำอาง (ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส) ของใบสักโดยเปรียบเทียบใบสักสดจากต้นกับใบสักแก่ที่ร่วง ที่สกัดด้วยตัวทำละลายแตกต่างกัน 5 ชนิด คือ น้ำ, 95% Ethanol, Acetone, Hexane และ Methanol ในอัตราส่วน 1:10 w/v ด้วยวิธี Shaking method (150 rpm, RT) เป็นเวลา 6, 12 และ 24 ชั่วโมง ตามลำดับ ผลการศึกษาทั้งในสารสกัดใบสักสดจากต้นและใบสักแก่ที่ร่วง พบสารพฤกษเคมีเบื้องต้น 4 กลุ่มคือ แอนทราควิโนน เทอร์พีนอยด์ ฟลาโวนอยด์ และแทนนิน และศึกษาหาปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพพบว่าสารสกัดใบสักสดจากต้นที่สกัดด้วย methanol มีปริมาณ TPC และ TFC สูงที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาสกัดที่ 12 ชั่วโมง (2,306.3±38.16 mgGAE/g extract และ 647.46±69.29 mgQE/g extract ตามลำดับ) (p<0.05) สอดคล้องกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH และ FRAP ที่มีค่าสูงที่สุดเมื่อสกัดด้วย methanol โดยเฉพาะเวลาที่ 12 ชั่วโมง (2,476.5±46.63 และ 7,304.9±69.42 mgTEAC/g extract ตามลำดับ) (p<0.05) ในขณะที่ TCTC ที่พบในสารสกัดใบสักสดจากต้นที่สกัดด้วย hexane ที่เวลา 24 ชั่วโมงมากที่สุด (256.00±45.83 mgCE/g extract) (p<0.05) และยังพบว่าฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสสูงสุดเมื่อสกัดด้วย hexane เช่นกันโดยเฉพาะที่เวลา 12 ชั่วโมง (8.641±2.089%) ส่วนสารสกัดจากใบสักแก่ที่ร่วงพบว่าเมื่อสกัดด้วย 95% ethanol ที่เวลา 24 ชั่วโมงมี TPC สูงที่สุด (2,568.9±19.65 mgGAE/g extract) (p<0.05) สอดคล้องกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี FRAP และ ABTS ที่สกัดด้วย 95% ethanol มีค่าสูงที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เวลา 6 และ 24 ชั่วโมงตามลำดับ (6,090.9±248.2 และ 18,843.7±156.8 mgTEAC/g extract ตามลำดับ) (p<0.05) ส่วน TFC พบมากที่สุดในสารสกัดใบสักแก่ร่วงที่สกัดด้วย methanol ที่เวลา 12 ชั่วโมง (504.56±19.89 mgQE/g extract) สอดคล้องกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH ที่สกัดด้วย methanol มีค่าสูงที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เวลา 12 ชั่วโมง (1,719.86±53.84 mgTEAC/g extract) นอกจากนั้นค่าของ TCTC จะสูงที่สุดเมื่อสกัดด้วยhexane โดยเฉพาะเวลาที่ 12 ชั่วโมง (170.00±22.45 mgCE/g extract) (p<0.05) ซึ่งสอดคล้องกับฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสที่มีค่าสูงสุดเมื่อสกัดด้วย hexane ที่เวลา 12 ชั่วโมง (8.006±1.466%) จากผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นศักยภาพของใบสักที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ใบสัก และยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ต้นสักอีกด้วย

โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา

อ่านต่อ...