โครงการวิจัยที่กำลังดำเนินการ

โครงการศึกษาทางกายภาพและชีวภาพของพืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์: การประเมินการกระจายชนิดและสถานภาพการอนุรักษ์ของกล้วยไม้สกุล Sirindhornia

กล้วยไม้สกุล Sirindhornia จัดเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพบในประเทศไทยทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ เอื้องศรีประจิม Sirindhornia milabilis H. A. Pedersen & Suksathan และ เอื้องศรีอาคเนย์ S. monophylla H. A. Pedersen & Suksathan พบได้ที่ดอยหัวหมด จังหวัดตาก ส่วนเอื้องศรีเชียงดาว S. pulchella H. A. Pedersen & Indham สามารถพบได้ที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในแต่ละชนิดพบการกระจายพันธุ์เพียงแห่งเดียวในสภาพธรรมชาติ นอกจากนี้ถิ่นที่อาศัยเหล่านี้ยังถูกรบกวนโดยกิจกรรมการท่องเที่ยวของมนุษย์ การลดลงของพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต (พื้นที่อยู่อาศัย) การเผาป่าพื้นการเก็บผลิตภัณฑ์จากป่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ล้วนแต่เป็นภัยคุกคาม ส่งผลกระทบต่อการกระจายพันธุ์ของกล้วยไม้ ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้จะมีการประยุกต์การใช้แบบจำลองการกระจายพันธุ์ มาทำนายและสร้างแผนที่การกระจายพันธุ์ทางภูมิศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อวิเคราะห์หาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต และการเปลี่ยนแปลงของขนาดพื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัย โดยใช้ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและนิเวศของพืชและถิ่นที่อาศัยเป็นตัวแปรในการสร้างแบบจำลองและแผนที่นั้น ๆ สุดท้ายจะทำการประเมินสถานภาพการอนุรักษ์จะใช้หลักเกณฑ์ของบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red list) โดยหวังว่าผลการศึกษาแบบจำลองการกระจายพันธุ์และการประเมินสถานภาพการอนุรักษ์มีศักยภาพสูงก็สามารถนำไปประยุกต์กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ได้ต่อไปและสามารถนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อใช้ในแนวทางการวางแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้ พร้อมกันนี้ยังสามารถใช้เป็นเครื่องชี้เตือนให้นำไปสู่การสร้างนโยบายใหม่ ๆ ในการบริหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา

อ่านต่อ...

โครงการศึกษาการขยายพันธุ์พืชหายาก/พืชที่น่าสนใจ ด้วยการขยายพันธุ์ตามปกติโดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และโดยวิธีอื่น ระยะเวลา 1 ปี

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกจากปรากฎการณณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั่วโลก ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมต่อประเทศต่างๆร่วมถึงประเทศไทยที่ประสบปัญหาอุทกภัยและวาตภัยที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาทรัพยากรป่าไม้เป็นปัญหาที่สำคัญปัญหาหนึ่งของประเทศในขณะนี้แม้ว่าจะมีการอนุรักษ์ หรือเพิ่มพื้นป่าไม้ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน แต่จากสถิติการบุกรุกพื้นที่ป่า จากกรมป่าไม้ระหว่าง ปีพ.ศ. 2551-2560 มีพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ รวม 107,932.90 ไร่ และพื้นที่ป่าถูกบุกรุก รวม 106,283.44 ไร่ ส่วนพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์มีพื้นที่ รวม 35,607.82 ไร่ ซึ่งมีปัจจัยมาจากหลายสาเหตุ เช่น การขยายพื้นที่เกษตรกรรม การใช้สารเคมีในพื้นที่เกษตรกรรม การขาดที่ดินทำกิน การบุกรุกของนายทุนเพื่อทำโรงแรม รีสอร์ท การตอบสนองความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้น นโยบายของรัฐ การลักลอบตัดไม้เพื่อนำมาขาย รวมทั้งพืชต่างถิ่น ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ อาทิ สภาพแวดล้อม อากาศที่เปลี่ยนเปลี่ยน ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ความหลากหลากของสัตวนานาชนิด สิ่งมีชีวิตประเภทจุลินทรีย์ และพันธุไม้ลดลง การศึกษาการขยายพันธุ์พืชหายาก/พืชที่น่าสนใจ ด้วยการขยายพันธุ์ตามปกติโดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและวิธีอื่น มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมพืชหายากหรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมระบบนิเวศป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์ ซึ่งการขยายพันธุ์ เป็นวิธีการเพิ่มปริมาณต้นพืชจากต้นที่มีอยู่ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้พืชดำรงสายพันธุ์ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ และรักษาลักษณะประจำพันธุ์ที่มีในพืชนั้นๆให้คงอยู่ โดยการขยายพันธุ์พืชแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะมีวิธีการและเทคนิคที่แตกต่างกันตามแต่ละชนิดของพืช

โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา

อ่านต่อ...

โครงการปลูกรักษาพืชท้องถิ่นจากภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านการใช้ประโยชน์ของพืชของชาติพันธุ์ต่าง ๆใน จ.เชียงราย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายด้านชีวภาพแต่ด้วยการเจริญเติบโตด้านต่าง ๆ การพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว และอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลงมาก และป่าไม้ลดลง ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่ป่าลดลง ดินพังทลาย สัตว์ป่าไม่มีที่อยู่อาศัย หรือภาวะโลกร้อน เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากนี้ยังรวมถึงการใช้ประโยชน์ของพืชในด้านต่าง ๆ รวมถึงการใช้ประโยชน์ของพืช และภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งโดยปกติแล้วกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในประเทศไทยมักจะมีการนำพืชมาใช้ประโยชน์เพราะเป็นสิ่งที่หาง่ายและอยู่รอบ ๆ ตัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พืชเป็นยาสมุนไพรในการรักษาโรค ใช้เป็นอาหารในการดำรงชีวิต ดังนั้นพืชจึงมีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย และการใช้ประโยชน์ของพืชนั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้อีกด้วย ถ้ามีแต่การนำไปใช้อย่างเดียวไม่มีหาวิธีบำรุงหรือปลูกทดแทนพืชก็อาจจะสูญพันธุ์ได้ จึงต้องมีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น โดยต้องอาศัยคนในชุมชนและนักวิจัยที่เข้าไปศึกษาต้องแนะนำการใช้ประโยชน์จากพืชอย่างยั่งยืนและใช้อย่างถูกวิธี เช่น ส่งเสริมการปลูกป่าในชุมชน เพื่อเป็นแหล่งใช้สอยพรรณไม้ที่เป็นประโยชน์และยังเป็นการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไว้อีกด้วย อาจจะเป็นแนวทางในการสร้างรายได้ให้ชุมชน นอกจากนี้ยังมีการนำพืชมาปลูกในแปลงสาธิตเพื่อเป็นการช่วยเก็บรักษาพืชอีกทางหนึ่ง

โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา

อ่านต่อ...

โครงการสำรวจและเก็บรวบรวมตัวอย่างแห้งและตัวอย่างดองเพื่อเป็นตัวอย่างการศึกษาหรือจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ดำเนินการในกิจกรรมที่ 2 กิจกรรมสำรวจและรวบรวมพันธุกรรมพืช โดยได้ดำเนินงานในกิจกรรมการสำรวจและเก็บรวบรวมตัวอย่างแห้งและดองเพื่อเป็นตัวอย่างในการศึกษาหรือจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งได้มีการกำหนดพื้นที่เขาหินปูน (ผาฮุ้ง) อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว การสำรวจและเก็บรวบรวมตัวอย่างแห้งและดองในพื้นที่เขาหินปูน (ผาฮุ้ง) อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีความสำคัญค่อนข้างมากเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีระบบนิเวศเขาหินปูน ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีความจำเพาะเจาะจง เป็นสังคมพืชที่มีความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ และมีโอกาสสูงที่จะพบพืชเฉพาะถิ่นที่มีลักษณะโดดเด่นกว่าพื้นที่อื่น เขาหินปูน (ผาฮุ้ง) อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับพระธาตุดอยตุงซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย จึงมีความเสี่ยงที่พืชในพื้นที่ดังกล่าวจะถูกรบกวนจากนักท่องเที่ยวและการบุกรุกเพื่อหาของป่าจากคนในพื้นที่ ดังนั้นจึงต้องทำการสำรวจและเก็บรวบรวมตัวอย่างแห้งและตัวอย่างดองของพืชที่พบในพื้นที่ เพื่อนำไปจัดทำเป็นฐานข้อมูล และเพื่อนำไปประกอบการบริหารจัดการแนวทางการอนุรักษ์ต่อไป

โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา

อ่านต่อ...

โครงการพัฒนาพื้นที่ดอยแง่มเป็นพื้นที่ปกปักษ์พันธุกรรมพืช มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

เส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยแง่มมีหลายเส้นทางตั้งแต่ระยะทางประมาณ 1,000 เมตร ถึง 1,600 เมตร เส้นทางไม่สูงชันมากนัก มีจำนวนพรรณพืชที่แตกต่างกันในแต่ละฤดูกาล การพัฒนาเส้นทางเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับให้บริการแก่ผู้ที่สนใจสภาพแวดล้อม ธรรมชาติ พรรณพฤกษา ตลอดจนสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในพื้นที่ดอยแง่ม ให้ผู้ที่สนใจศึกษาพรรณไม้และธรรมชาติได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ โดยอาศัยฐานทรัพยากร ที่สำคัญคือ สภาพธรรมชาติและทรัพยากรชีวกายภาพ ที่ปรากฏในเส้นทาง นอกจากนั้นยังมีโอกาสได้ เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ของธรรมชาติ ซึ่งลักษณะของ เส้นทางเดินป่าแต่ละเส้นที่มีความแตกต่างกัน ส่งผลให้ผู้สนใจได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปด้วย ทำให้ผู้สนใจมีทางเลือกในการเลือกใช้เส้นทางที่เหมาะสมกับความสามารถและความต้องการของตนเอง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากร ซึ่งจะก่อให้เกิดความหวงแหนและร่วมมือกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ การได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถทำได้หลายวิธี วิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมมากคือ การจัดทำเส้นทางเพื่อศึกษาธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาธรรมชาติที่จะให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องของพรรณไม้ สภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจน ได้ชมทิวทัศน์และสภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่สวยงาม เช่น สภาพป่า พรรณไม้ และทัศนียภาพที่สวยงาม ในแต่ละฤดูกาลที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ที่มาศึกษามีสุขภาพพลามัยสมบูรณ์แข็งแรงอีกทางหนึ่ง

โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา

อ่านต่อ...