โครงการเพิ่มมูลค่าและการใช้ประโยชน์พืชอนุรักษ์ อพ.สธ.ในทางนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเครื่องสำอาง

โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา

กิจกรรม

กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากร

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสารพฤกษเคมีเบื้องต้น สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (Total Phenolic Content: TPC, Total Flavonoid Content: TFC และ Total Condensed Tannin Contents: TCTC) และฤทธิ์ทางชีวภาพทางเครื่องสำอาง (ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส) ของใบสักโดยเปรียบเทียบใบสักสดจากต้นกับใบสักแก่ที่ร่วง ที่สกัดด้วยตัวทำละลายแตกต่างกัน 5 ชนิด คือ น้ำ, 95% Ethanol, Acetone, Hexane และ Methanol ในอัตราส่วน 1:10 w/v ด้วยวิธี Shaking method (150 rpm, RT) เป็นเวลา 6, 12 และ 24 ชั่วโมง ตามลำดับ ผลการศึกษาทั้งในสารสกัดใบสักสดจากต้นและใบสักแก่ที่ร่วง พบสารพฤกษเคมีเบื้องต้น 4 กลุ่มคือ แอนทราควิโนน เทอร์พีนอยด์ ฟลาโวนอยด์ และแทนนิน และศึกษาหาปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพพบว่าสารสกัดใบสักสดจากต้นที่สกัดด้วย methanol มีปริมาณ TPC และ TFC สูงที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาสกัดที่ 12 ชั่วโมง (2,306.3±38.16 mgGAE/g extract และ 647.46±69.29 mgQE/g extract ตามลำดับ) (p<0.05) สอดคล้องกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH และ FRAP ที่มีค่าสูงที่สุดเมื่อสกัดด้วย methanol โดยเฉพาะเวลาที่ 12 ชั่วโมง (2,476.5±46.63 และ 7,304.9±69.42 mgTEAC/g extract ตามลำดับ) (p<0.05) ในขณะที่ TCTC ที่พบในสารสกัดใบสักสดจากต้นที่สกัดด้วย hexane ที่เวลา 24 ชั่วโมงมากที่สุด (256.00±45.83 mgCE/g extract) (p<0.05) และยังพบว่าฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสสูงสุดเมื่อสกัดด้วย hexane เช่นกันโดยเฉพาะที่เวลา 12 ชั่วโมง (8.641±2.089%) ส่วนสารสกัดจากใบสักแก่ที่ร่วงพบว่าเมื่อสกัดด้วย 95% ethanol ที่เวลา 24 ชั่วโมงมี TPC สูงที่สุด (2,568.9±19.65 mgGAE/g extract) (p<0.05) สอดคล้องกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี FRAP และ ABTS ที่สกัดด้วย 95% ethanol มีค่าสูงที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เวลา 6 และ 24 ชั่วโมงตามลำดับ (6,090.9±248.2 และ 18,843.7±156.8 mgTEAC/g extract ตามลำดับ) (p<0.05) ส่วน TFC พบมากที่สุดในสารสกัดใบสักแก่ร่วงที่สกัดด้วย methanol ที่เวลา 12 ชั่วโมง (504.56±19.89 mgQE/g extract) สอดคล้องกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH ที่สกัดด้วย methanol มีค่าสูงที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เวลา 12 ชั่วโมง (1,719.86±53.84 mgTEAC/g extract) นอกจากนั้นค่าของ TCTC จะสูงที่สุดเมื่อสกัดด้วยhexane โดยเฉพาะเวลาที่ 12 ชั่วโมง (170.00±22.45 mgCE/g extract) (p<0.05) ซึ่งสอดคล้องกับฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสที่มีค่าสูงสุดเมื่อสกัดด้วย hexane ที่เวลา 12 ชั่วโมง (8.006±1.466%) จากผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นศักยภาพของใบสักที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ใบสัก และยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ต้นสักอีกด้วย

กรอบการเรียนรู้

กรอบการใช้ประโยชน์

คำสำคัญ

ใบสักสดจากต้น ใบสักแก่ที่ร่วง, สารพฤกษเคมีเบื้องต้น, สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ, ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

วัตถุประสงค์

    1. เพื่อสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.)
    2. เพื่อศึกษาหาฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, ฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์
    3. ศึกษาองค์ประกอบทางพฤกษเคมี รวมทั้งปริมาณรวมสารฟีนอลิก, ปริมาณสารฟลาโวนอยด์และปริมาณแทนนินของสารสกัดใบสักในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย
    4. เพื่อศึกษาหาวิธีการสกัดที่เหมาะสมในการสกัดใบสักในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย