โครงการศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดน้อยหน่าเครือในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เพื่อประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเครื่องสำอาง
โครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา
กิจกรรม
กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากร
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (สารประกอบ phenolic, flavonoid และ condense tannin) จากส่วนต่างๆ ที่เหลือจากการบริโภค (เมล็ด ใบ และเปลือกของผล) ของน้อยหน่าเครือ (Kadsura heteroclite (Roxb.)) รวมทั้งฤทธิ์ทางชีวภาพ (ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ) และความปลอดภัยของสารสกัดน้อยหน่าเครือเหล่านั้น โดยนำส่วนต่างๆ ของน้อยหน่าเครือ ได้แก่ เมล็ด ใบ และเปลือกของผลน้อยหน่าเครือ มาสกัดด้วยตัวทำละลาย 3 ชนิด คือ DI water, Ethanol และ Acetone ในอัตราส่วน 1:10 w/v ด้วยวิธี Shaking method ความเร็วรอบ 150 rpm ที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 6 12 และ 24 ชั่วโมง ตามลำดับ ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดหยาบจากเมล็ด ใบ และเปลือกของผลน้อยหน่าเครือ พบว่ามีสารพฤกษเคมีกลุ่ม Anthraquinone, Terpenoid, Flavonoid และ Tannin นอกจากนี้จากการหา Total Phenolic Content (TPC) และ Total Flavonoid Content (TFC) พบว่าสารสกัดเมล็ดน้อยหน่าเครือที่สกัดด้วย Ethanol มี TPC สูงที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (1007.3±6.36 mg GAE/g extract) และยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เวลา 12 ชั่วโมง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุดทั้ง 3 วิธี (DPPH; 2,028.8±26.41, FRAP; 3,959.0±39.20 และ ABTS Activity; 4,844.0±206.60 mg TEAC/g extract) (p<0.05) ในขณะที่การศึกษาสารสกัดเปลือกน้อยหน่าเครือ พบว่ามี Total Flavonoid Content สูงสุด 117.69±30.49 mg QE/g extract ในส่วนของการสกัดใบน้อยหน่าเครือ พบว่าสารสกัดใบน้อยหน่าเครือ ที่สกัดด้วย Acetone เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ให้ TPC และ Total Condense Tannin Content (TCTC) สูงที่สุด (713.09±6.70 mg GAE/g extract และ 532.00±25.10 mg CE/g extract ตามลำดับ) และสารสกัดใบน้อยหน่าเครือที่สกัดด้วย Acetone เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี ABTS Activity สูงที่สุด (3981.12±31.01 mg TEAC/g extract) (p<0.05) อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดน้อยหน่าเครือ พบว่า ความเข้มข้นของสารสกัดเมล็ดน้อยหน่าเครือที่สกัดด้วย Ethanol ที่เวลา 12 ชั่วโมง ที่ไม่ทำให้เซลล์ผิวหนังเกิดความเป็นพิษ (Hacat cell) และมีเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตของเซลล์ (% cell viability) มากกว่า 80% คือ ความเข้มข้นที่ 50 µg/ml ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า น้อยหน่าเครือ โดยเฉพาะ ส่วนที่เหลือจากการบริโภค (เมล็ด เปลือกผล และใบ) สามารถนำมาเป็นสารสกัดธรรมชาติของไทย เพื่อประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเครื่องสำอาง อีกทั้งต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ และยังเป็นการสร้างนวัตกรรมและส่งเสริมการขยายพันธุ์ ส่งเสริมเกษตรกรเพาะปลูก เพิ่มโอกาสและอาชีพให้แก่เกษตรกร
กรอบการเรียนรู้
กรอบการใช้ประโยชน์
คำสำคัญ
น้อยหน่าเครือ, Kadsura heteroclite (Roxb.), สารต้านอนุมูลอิสระ สารพฤกษเคมีเบื้องต้น สารออกฤทธิ์ทางชี
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.)
2. เพื่อศึกษาหาวิธีการสกัดที่เหมาะสมในการสกัดน้อยหน่าเครือ พันธุ์ที่พบในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย
3. ศึกษาองค์ประกอบทางพฤกษเคมี รวมทั้งปริมาณ Total Phenolic Content (TPC), Total Flavonoid Content (TFC) และปริมาณแทนนิน (Anthocyanin, Condense Tannin) ของสารสกัดน้อยหน่าเครือ พันธุ์ที่พบในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย
4. เพื่อศึกษาหาฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ อิสระ (DPPH, ABTS, FRAP assay) ฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสของสารสกัดน้อยหน่าเครือ พันธุ์ที่พบในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย
5. เพื่อศึกษาความเป็นพิษในเซลล์ (Cytotoxicity) ของสารสกัดน้อยหน่าเครือ พันธุ์ที่พบในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย